ป้ายกำกับ

ครูแห-ครูอวน

กง ไกรลาศ เล่าประสบการณ์ขนหัวลุกในวันทำพิธี "วักครู"

ไม่ว่าอาชีพใดๆ ก็ต้องมีครูบาอาจารย์ทั้งนั้น เช่นพวกนาฎศิลป์ ลิเก ละครหรือช่างแขนงต่างๆ ก็มีครูเช่นกัน ทั้งฤาษี, พระวิศนุกรรม และพระพิฆเณศ เป็นต้น

แม้แต่อาชีพชาวประมง หากุ้งหาปลาเลี้ยงชีวิตไปวันๆ ก็ยังมีครูเลยครับ
ไม่ทราบว่าที่อื่นจะมีการไหว้ครูอย่างบ้านผมที่สุโขทัยหรือเปล่า พวกเราจะทำพิธีไหว้ "ครูแห-ครูอวน" เรียกกันว่า "วักครู" สันนิษฐานว่าคงมาจากคำว่า "เซ่นวัก" อย่างที่เราได้ยินกันทั่วๆ ไป

วันนี้ผมจะเล่าเรื่องขนหัวลุกในวัน "วักครู" ให้ฟัง
สมัยเด็กๆ ผมอยู่ ต.กง อ.กงไกรลาศ จ.สุโขทัย พ่อแม่มีอาชีพเป็นชาวประมง พวกเราอาศัยอยู่ในแพริมแม่น้ำยม โดยใช้ไม้บวบ (ไม้ไผ่) มาหนุนแพให้ลอยน้ำการมัดบวบนั้นใช้ไม้ไผ่ 50 ลำมามัด 1 มัดเท่ากับ 1 บวบ



คนฐานะดีก็ทำเรือนแพใหญ่ขนาด 3 บวบ ใช้ไม้เนื้อแข็งพาดบวบทำพื้นและฝาห้อง ส่วนมากใช้เสาไม้ไผ่ เสื่อลำแพนยาด้วยน้ำมันยางเป็นฝาแผง แต่หลังคามุงแฝกคล้ายๆ กันหมด

หลายๆ คนก็ปลูกบ้านอยู่บนฝั่ง จอดเรือหาปลาไว้ริมตลิ่งนั่นเอง เหมือนจะรู้ล่วงหน้าว่าแม้น้ำยมจะเหือดแห้งลงไปเรื่อยๆ ขนาดเดือนมีนาคม-เมษายน เด็กๆ ชวนกันลงไปเตะฟุตบอลในแม่น้ำยมได้เลย

ย้อนเวลาหาอดีตกันหน่อยนะครับ!

การทำประมงนี่ถือว่าเป็นอาชีพดั้งเดิมของชาวกง กับชาวฉนวนมานมนานแล้ว ใช้วิธีทอดแหกับตีอวนเอา สมัยก่อนมีปลาชนิดดีตัวสีขาว เพราะแม่น้ำยมมีสีขุ่น และมีป่าละเมาะมาก ปลาที่อยู่ในลุ่มน้ำขุ่นจึงมีสีขาว (ถ้าที่ไหนน้ำใส ตัวปลาจะเป็นสีขุ่น)

สมัยผมเด็กๆ ปลาชุกชุมมากครับ มีทั้งปลาเนื้ออ่อน ปลาชะโด ปลาม้า ปลากะสงที่ดูเผินๆ คล้ายปลาช่อนมากเลย

น้ำปลาจากปลาสร้อยหอมหวาน พวกเราทำขายขวดละ 20-25 บาท คนต่างถิ่นชอบซื้อกันมาก นอกจากนั้นพวกบ้านผมยังเก่งทางทำปลาร้าปลาช่อนและปลาเค้าถือว่ามีชื่อเสียง โด่งดังเอาการ

น่าเสียดายที่คนมากขึ้น แต่ปลาก็ลดน้อยลงทุกทีแล้วครับ
คนกงไกรลาศไม่ยอมแพ้อะไรง่ายๆ เมื่อแม่น้ำยมที่เสมือนสายเลือดแห้งแล้งลง พวกเราก็หันไปทำสวนฝรั่ง ปลูกถั่วฝักยาว มะระ มะเขือ ฟักแฟงแตงกวา พริกสดอีกหลายชนิด พวกนี้ขายส่งที่ตลาดไทแทบทั้งนั้น

มะเขือเทศสีแดงสวยก็ส่งไปขายที่เชียงใหม่ เห็นว่าทางคนซื้อเขาก็บรรจุหีบห่อส่งไปขายที่ญี่ปุ่นกับไต้หวันโน่นแน่ะ

กล้วยน้ำว้าของกงไกรลาศได้ชื่อว่าพันธุ์ดีที่สุด เป็นกล้วยไส้ขาว ไม่มีเม็ดหอมหวานมาก ส่งไปที่อำเภอบางกระทุ่ม จังหวัดพิษณุโลกมาประมาณ 20 ปีแล้ว กลายเป็นกล้วยตากบางกระทุ่มไปเลย

มาเล่าเรื่องขนหัวลุกกันดีกว่าครับ!

เหตุเกิดตอนที่ทำพิธี "วักครู" ตอนที่ผมเด็กๆ การทำประมงยังเป็นอาชีพที่รุ่งเรืองเฟื่องฟูไปแทบทุกตำบล

การไหว้ครูของเครื่องมือที่ใช้ในการจับปลา หนีไม่พ้นแห อวน ไปได้หรอกครับ ต้องทำพิธีเซ่นไหว้ "ครูแห-ครูอวน" กันทุกปี โดยจะเริ่มทำพิธีตอนบ่ายๆ พวกเครื่องเซ่นก็มีไก่ต้ม ปลานึ่ง สุรา ดอกไม้ 3 สี 3 ดอกและธูปเทียนใส่ถาดวางพร้อมกับเครื่องมือทำประมง เช่นแหและอวน เป็นต้น

ผู้ใหญ่หรือผู้เฒ่าผู้แก่จะจุดธูปเทียนกลางลานบ้าน ซึ่งอยู่ใกล้ๆ ตลิ่ง พลางพึมพำคาถาเหมือนเชื้อเชิญครูแห-ครูอวนมากินเครื่องเซ่น

ชาวบ้านนับสิบๆ คนรวมทั้งลูกเล็กเด็กแดงก็มาร่วมพิธีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ทุกๆ คนเงียบกริบ คอยจ้องมองดูถาดเครื่องเซ่น..โดยเป็นที่รู้กันว่าครูแห-ครูอวนจะมากิน เครื่องเซ่นเรียบร้อยภายในเวลาครึ่งชั่วโมง

สายลมคร่ำครวญกับยอดไม้..

คลื่นลูกเล็กทยอยกันเข้ากระทบฝั่งครั้งแล้วครั้งเล่า

เรือที่ผูกไว้หน้าแพ ก็จะถูกคลื่นซัดให้กระทบลูกบวบหรือห่วงยางเป็นจังหวะ เหมือนกับมีมือที่มองไม่เห็นมาจับมันให้กระทบกันยังงั้นแหละครับ

จู่ๆ สายลมก็พัดวูบมาเยือกเย็น เล่นเอาขนลุกซ่าไปทั้งตัว ต่างคนต่างยืนมองอย่างเงียบเชียบ จ้องมองดูถาดเครื่องเซ่นตามเดิม

ควันธูปม้วนเป็นสายก่อนจะกระจายไปกับสายลม...

แหอวนในพิธีขยับพึ่บพั่บ ราวกับมีมือที่มองไม่เห็นมาเขย่าเล่นอย่างสนุก ก่อนที่เงาดำๆ จะปรากฎขึ้นที่กลุ่มควันธูป ตวัดม้วนต้วนเห็นเป็นรูปเป็นร่างชายหญิงกำลังกินเครื่องเซ่นอย่างหิวโหย

หมาจากใต้ถุนโก่งคอหอนโหยหวน เยือกเย็นเข้าไปถึงหัวใจ เล่นเอาทุกคนตะลึงงันเหมือนถูกสาปไปตามๆ กัน

...และแล้วก็เป็นอันเสร็จพิธี!

ต่อจากนั้นก็มีการชักชวนชาวบ้านมากินสุราอาหารอย่างเอร็ดอร่อย ไม่มีใครถือสาหรือเรียกว่า "เดนผี" ก่อนจะแยกย้ายกันกลับบ้านกลับแพของตน..ปัจจุบันพิธีนี้ล้มเลิกไปแล้ว แต่ผมยังจดจำภาพน่าขนหัวลุกไม่มีวันลืมเลยครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เรื่องผี ที่ได้รับความนิยม