เหตุการณ์ดังกล่าวยังเป็นแรงบันดาลใจให้กับหนัง 2 เรื่อง เรื่องหนึ่งเป็นหนังอเมริกัน ชื่อ The Exorcism of Emily Rose เข้าฉายในบ้านเราเมื่อ 2 ปีก่อนเห็นจะได้ แต่กลับกลายเป็นคดีความระดับชาติ เป็นเป้าสนใจของสื่อมวลชนทั่วโลก และที่สำคัญมาจากต้นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 1 คน
ส่วนอีกเรื่องชื่อว่า Requiem เป็นหนังจากประเทศเยอรมนี – ซึ่งเป็นสถานที่เกิดเหตุจริงของเรื่องราวในคราวนั้น
ควรเริ่มต้นด้วยการแนะนำผู้เสียหายหลักอย่างเป็นทางการเสียก่อน
เธอชื่อ อันเนลีส มิเชล เกิดเมื่อวันที่ 21 กันยายน 1952 ที่หมู่บ้านเล็กๆแห่งหนึ่งในแคว้นบาวาเรีย ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของเยอรมนี
อันเนลีสเป็นลูกคนที่ 2 ของ โจเซฟ กับ อันนา มิเชล พี่น้องอีก 4 คนของเธอล้วนแล้วแต่เป็นผู้หญิงทั้งสิ้น และในปัจจุบันมีเพียง 3 คนเท่านั้นที่ยังมีชีวิตอยู่
ตามประวัติบอกว่า โจเซฟกับอันนาเป็นคาธอลิกที่เคร่งครัดขนาดหนัก ตัวโจเซฟเองเคยคิดที่จะศึกษาบวชเรียนเป็นนักบวช
นอกจากนั้นพี่น้องผู้หญิงของทั้งตัวเขาและฝ่ายภรรยาก็อุทิศตัวให้ศาสนา ดำรงตนเป็นนางชีรวมแล้วถึง 3 คนด้วยกัน
ในปี 1948 ก่อนอันเนลีสเกิด 4 ปี อันนาเกิดตั้งท้องนอกสมรส สร้างความเสื่อมเสียให้วงศ์ตระกูลอย่างยิ่ง ว่ากันว่า ครอบครัวถึงกับบังคับให้เธอสวมชุดดำเพื่อไว้ทุกข์ให้แก่ศีลธรรมของตนเองในวันแต่งงาน และนับจากวันนั้นเป็นต้นมา ความรู้สึกผิดต่อบาปกรรมที่ทำไปในครั้งนั้น ก็ไม่เคยห่างหายจากใจของอันนาเลย
ผลจากความรู้สึกผิดบาปของอันนา ไปตกอยู่กับอันเนลีสซึ่งเป็นลูกคนที่สอง
อันนาใช้ความผิดพลาดของตนเป็นบทเรียนสอนสั่งอันเนลีสให้ตระหนักถึงผลกรรมของ การทำบาปไม่เว้นแต่ละวัน ทั้งยังกระตุ้นให้ลูกสวดมนต์ ขอพร ชำระบาปอย่างสม่ำเสมอ โดยหวังว่ามันจะเป็นการล้างบาปให้ตนได้
ไม่ว่าอันนาจะคาดไว้หรือไม่ก็ตาม สิ่งที่เธอพร่ำสอนอันเนลีส ส่งผลให้เด็กหญิงรู้สึกผิดบาปในระดับที่ทัดเทียมกันกับผู้เป็นแม่ - ทั้งที่ไม่ได้เป็นผู้ก่อสิ่งซึ่งแม่เรียกว่าบาปกรรมนั้นเลยสักนิด
ยิ่งเมื่อลูกสาวคนโตซึ่งเกิดจากการตั้งครรภ์นอกสมรสในคราวนั้น เสียชีวิตในอีกไม่กี่ปีต่อมา (ขณะนั้นอันเนลีสอายุได้ 4 ขวบ) เนื่องจากเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดเนื้องอกในตับ ก็ยิ่งทำให้ความรู้สึกผิดในหัวใจของอันเนลีส ทวีคูณสูงลิบเป็นเงาตามตัว
สถานการณ์ไม่ดีขึ้นเลยเมื่ออันเนลีสย่างเข้าสู่วัยรุ่น
ขณะที่เด็กหนุ่มสาวรุ่นราวคราวเดียวกันกำลังเริงร่าอยู่กับเสรีภาพที่ได้มา พร้อมกับวันและวัย สนุกสุดเหวี่ยงกับการได้แหกกฎแหวกเกณฑ์ต่างๆ อันเนลีสกลับต้องใช้เวลาทุกคืนค่ำหลับนอนบนพื้นหินแข็งๆ เพราะเชื่อว่านั่นจะเป็นการไถ่บาปแทนพวกจรจัด ติดยา บาปหนา ซึ่งพบเห็นได้ทั่วไปตามที่สาธารณะต่างๆ แม้ว่าตัวเธอเองจะไม่รู้จักมักจี่กับคนพวกนั้นแม้แต่น้อย
จุดเริ่มต้นอันจะนำไปสู่จุดจบที่เต็มไปด้วยความทุกข์ทรมานของอันเนลีส เกิดขึ้นเมื่อปี 1968 ขณะอายุได้ 16 ปี
อันเนลีส ในวัยเด็ก
ในเบื้องต้น หญิงสาวเกิดอาการสั่นอย่างรุนแรงเป็นครั้งคราว พ่อแม่ของเธอตัดสินใจพึ่งพาการแพทย์สมัยใหม่ในระยะแรก ผลการวินิจฉัยบ่งชี้ว่า เธอเป็นโรคลมบ้าหมูชนิดร้ายแรง หมอจ่ายยาให้ แต่อาการของเธอก็ไม่ดีขึ้น
ตลอด 5 ปีหลังจากนั้น คือการเดินเข้าเดินออกคลินิกต่างๆเป็นว่าเล่น หยูกยาขนานแล้วขนานเล่าถูกสั่งจ่ายให้แก่อันเนลีส ยาบางตัวได้รับการวิเคราะห์ภายหลังการเสียชีวิตของเธอว่า ก่อให้เกิดผลข้างเคียงร้ายกาจต่อร่างกาย แต่ไม่ว่าจะอย่างไร ยาทุกขนานเหมือนกันหมดตรงที่ ไม่สามารถช่วยให้หญิงสาวหายขาดจากอาการชักของเธอได้เลย
การแพทย์แผนปัจจุบันที่ล้มเหลว บวกรวมกับความเชื่อทางศาสนาที่เคร่งครัดอยู่เป็นทุน ส่งผลให้อันเนลีสเริ่มเชื่อว่าตัวเองถูกภูตผีปีศาจร้ายเข้าสิง เธอบอกใครๆว่า เธอเห็นใบหน้าปีศาจร้ายอยู่รายรอบ และเธอได้ยินเสียงสาปแช่งของพวกมัน
นอกจากนั้นเธอยังแสดงอาการแปลกๆอีกหลายอย่าง
เช่น ครั้งหนึ่งระหว่างเดินทางแสวงบุญ (เป็นกิจกรรมที่ครอบครัวมิเชลทำอยู่ประจำ) หญิงชราคนหนึ่งซึ่งร่วมเดินทางด้วยกัน บอกว่าเธอเห็นอันเนลีสหลบเลี่ยงที่จะเดินผ่านรูปภาพพระเยซู ปฏิเสธที่จะดื่มน้ำมนต์ศักดิ์สิทธิ์ภายในโบสถ์ อีกทั้งเธอยังได้กลิ่นผีชั่วเหม็นสาบสางจากร่างของอันเนลีส
แน่นอนว่า ทั้งหมดนั้นทำให้โจเซฟและอันนา –ซึ่งพร้อมที่จะเชื่ออยู่แล้ว- ยิ่งมั่นใจว่าลูกสาวถูกผีเข้าเป็นแน่ ทั้งคู่จึงไม่รอช้า แสดงความจำนงต่อบาทหลวงประจำโบสถ์ในหมู่บ้าน ขอให้ประกอบพิธีไล่ผีให้อันเนลีสทันที
ครั้งแรกที่มีการขออนุญาตประกอบพิธีไล่ผีแก่อันเนลีส คือ ในปี 1974 (ข้อมูลบางแห่งระบุว่า ปี 1973) โดยมีบาทหลวง เอิร์นส์ต อัลต์ เป็นผู้ยื่นคำร้อง แต่ท่านบิชอปแห่งวูซบรูก ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจ กลับปฏิเสธ ทั้งยังแนะนำให้อันเนลีสปฏิบัติตนเป็นคาธอลิกที่เคร่งครัดมากขึ้นกว่าเก่า หลายเดือนต่อมา มีการยื่นคำร้องซ้ำอีกครั้ง แต่ก็ต้องถูกปฏิเสธซ้ำอีก
ในระหว่างนั้น พฤติกรรมของอันเนลีสยิ่งแปลกประหลาดและหนักข้อ เธอเริ่มด่าทอ ทุบตี และจิกกัดสมาชิกคนอื่นๆในครอบครัว ปฏิเสธที่จะกินอาหาร แต่หันไปยังชีพด้วยการบริโภคแมลงวัน แมงมุม ถ่านหิน ดื่มปัสสาวะตัวเองแทนน้ำสะอาด แทะทึ้งซากนกจนหัวมันหลุดจากร่าง ฉีกทึ้งเสื้อผ้าตัวเองเป็นว่าเล่น เห่าหอนราวกับสุนัขเป็นวัน กรีดร้องไม่รู้จักเหนื่อยนานนับชั่วโมง
นอกจากนั้น ในโมงยามที่ได้สติสัมปชัญญะกลับคืนมา อันเนลีสก็ตกอยู่ในภาวะหดหู่ซึมเศร้าอย่างรุนแรง บางครั้งบางหนเธอคิดที่จะฆ่าตัวตายไปเสียให้พ้นๆ
สถานการณ์ที่นานวันก็ยิ่งแย่ ส่งผลให้คำร้องขอประกอบพิธีไล่ผีครั้งที่ 3 ได้รับอนุญาต
พิธีไล่ผีครั้งแรกเริ่มขึ้นในเดือนกันยายน 1975 มีบาทหลวงเอิร์นส์ต อัลต์และหลวงพ่อ อาร์โนลด์ เรนซ์ เป็นผู้ประกอบพิธี ตามกำหนดแล้ว พิธีไล่ผีนี้จะต้องทำกันสัปดาห์ละ 1 ถึง 2 ครั้ง ครั้งหนึ่งใช้เวลาร่วม 4 ชั่วโมง
เหตุการณ์ในระหว่างประกอบพิธีนั้น แทบไม่ต่างอะไรจากที่ผู้ชมเห็นในหนัง The Exorcist ของ วิลเลียม ฟรีดกิน – อันเนลีสดิ้นรนขัดขืนสุดแรงเกิด เรี่ยวแรงของเธอเพิ่มพูนมหาศาลถึงขนาดต้องใช้ผู้ชายแข็งแรงกำยำ 3 คนช่วยกันจับจึงจะเอาอยู่ และบางคราวถึงกับต้องเอาโซ่ล่ามเธอไว้
กล่าวกันว่า หลังผ่านพิธีไล่ผีไม่นานนัก อาการของอันเนลีสก็ทุเลาขึ้นอย่างน่าประหลาด ระยะนั้นเธอสามารถกลับเข้าเรียนได้ หรือจะไปโบสถ์ก็ยังไหว
อย่างไรก็ตาม อันเนลีสก็ดีขึ้นเพียงชั่วระยะเวลาสั้นๆเท่านั้น หลังจากนั้นอาการของเธอก็กลับเป็นเหมือนเดิมอีก และยังต้องเข้ารับการไล่ผีอย่างต่อเนื่อง
ที่ร้ายก็คือ กรรมวิธีที่รุนแรงฮาร์ดคอร์ของพิธีกรรม เริ่มจะสร้างความบอบช้ำแก่ร่างกายของอันเนลีส อาการเกร็งจนไม่อาจขยับเขยื้อน หรือจู่ๆก็เป็นลมล้มพับหมดสติไป เริ่มเกิดกับเธอถี่ขึ้น
การปฏิเสธที่จะรับอาหารกลับมาอีกครั้ง ซ้ำเธอยังบังคับตัวเองให้ถ่ายท้องอยู่บ่อยๆ โดยให้เหตุผลว่านั่นเป็นหนทางหนึ่งที่จะกำจัดปีศาจออกจากร่างกาย น้ำหนักของเธอลดวูบ (ช่วงที่เสียชีวิต น้ำหนักของเธอลดเหลือเพียง 63 ปอนด์ หรือราว 30 กิโลกรัมเท่านั้น)
ร่างกายผ่ายผอมดูเผินๆไม่ต่างจากโครงกระดูก มีร่องรอยฟกช้ำปรากฏให้เห็นไปทั่ว
ปลายเดือนมิถุนายน 1976 ผลจากการเข้าพิธีไล่ผีอย่างเข้มข้น ประกอบกับร่างกายที่อ่อนแอจากการขาดน้ำและอาหาร ก็ทำให้อันเนลีสล้มป่วยด้วยโรคปอดบวม ไข้ขึ้นสูงจนเธอไม่อาจกระดิกกระเดี้ยทำสิ่งใดได้
กระนั้นก็ตาม พิธีไล่ผีก็ยังต้องดำเนินต่อไป การประกอบพิธีในวันที่ 30 มิถุนายน พ่อและแม่ของเธอถึงกับต้องเข้ามาช่วยพยุง ไม่เช่นนั้นลูกสาวคงไม่อาจผ่านพ้นมันได้จนตลอดรอดฝั่ง
อย่างไรก็ตาม นั่นก็เป็นพิธีกรรมครั้งสุดท้ายของอันเนลีส เพราะเช้าวันถัดมา เมื่อโจเซฟกับอันนาแวะเข้ามาดูอาการลูกสาวตามปรกติ ก็พบว่า เธอเสียชีวิตเสียแล้ว
รวมเบ็ดเสร็จ ภายในระยะเวลาราว 10 เดือน อันเนลีสต้องเข้าพิธีไล่ผีถึง 67 ครั้ง
เล่ากันว่า ประโยคสุดท้ายที่อันเนลีสพูดกับแม่ของเธอในคืนก่อนหน้านั้น ก็คือ “แม่...หนูกลัว”
ภาพถ่ายอันเนลีส มิเชล ภายหลังผ่านพิธีไล่ผีแล้ว
การที่หญิงสาววัยเพียง 24 ปีต้องมาเสียชีวิตในสภาพร่างกายผ่ายผอมบอบช้ำ นับว่าเป็นเรื่องไม่ปรกติและไม่ธรรมดา
หลังได้รับแจ้งเหตุ เจ้าหน้าที่รัฐจึงยื่นเรื่องขอชันสูตรศพอันเนลีส และผลการชันสูตรก็สรุปออกมาว่า เธอเสียชีวิตด้วยภาวะขาดอาหารและน้ำอย่างรุนแรง ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ควรเกิดขึ้นเลย ถ้าเพียงแต่ใครสักคนจะใส่ใจดูแลเธออย่างจริงจังกว่านี้...ถ้าเพียงแต่ใครสัก คนจะเรียกหมอมาดูอาการของเธอ ขอแค่สัปดาห์เดียวก่อนที่เธอจะเสียชีวิต
ข้อสรุปดังกล่าวส่งผลให้อัยการรัฐตัดสินใจสั่งฟ้องจำเลยทั้งสี่ อันประกอบด้วย โจเซฟกับอันนา มิเชล และบาทหลวงเอิร์นส์ต อัลต์ กับหลวงพ่อโจเซฟ เรนซ์ ซึ่งเป็นผู้ประกอบพิธีไล่ผี ด้วยข้อหา กระทำการโดยประมาททำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย (ในภาษาอังกฤษใช้คำว่า Manslaughter ซึ่งครอบคลุมถึงการฆ่าผู้อื่นโดยไม่เจตนา และฆ่าเนื่องจากถูกยั่วยุโทสะด้วย)
การพิจารณาคดีเริ่มขึ้นในวันที่ 30 มีนาคม 1978 ผู้รับหน้าที่แก้ต่างให้บาทหลวงทั้งสองรูปเป็นทนายที่ได้รับการว่าจ้างจาก โบสถ์ที่ทั้งคู่ประจำการอยู่ ส่วนพ่อแม่ของอันเนลีสนั้นมีตัวแทนคือ เอริช ชมิดต์-ลีชเนอร์ ทนายดังที่ก่อนหน้านี้เคยเป็นว่าความให้อดีตสมาชิกนาซีซึ่งถูกกล่าวหาว่า เป็นอาชญากรสงครามมาแล้วหลายราย
ชมิดต์-ลิชเนอร์ ยกข้ออ้างเรื่องสิทธิที่จะประกอบพิธีการต่างๆตามความเชื่อทางศาสนา ซึ่งได้รับการรับรองโดยรัฐธรรมนูญ มาเป็นข้อแก้ต่าง นอกจากนั้นยังเสนอหลักฐานเป็นเทปบันทึกเสียงระหว่างประกอบพิธี ซึ่งปรากฏว่าเป็นเสียงของอันเนลีสพูดจาด้วยภาษาแปลกประหลาด บางครั้งด้วยน้ำเสียงกราดเกรี้ยว บางคราวเป็นเสียงกรีดร้องโหยหวน
(มีเสียงหนึ่งซึ่งพูดด้วยสำเนียง แฟรงกลิช และบาทหลวงทั้งสองรูปยืนกรานว่า นั่นคือเสียงของ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ หนึ่งในปีศาจสารพัดสารพันตนที่เข้าสิงอันเนลีส)
ทั้งหมดนี้เพื่อยืนยันว่า อันเนลีส มิเชล ไม่ได้ป่วยด้วยโรคธรรมดา ทว่าเธอถูกผีเข้าจริง
อย่างไรก็ตาม ศาลพิจารณาแล้วได้ข้อสรุปว่า คำค้านฟังไม่ขึ้น จำเลยทั้งสี่ถูกตัดสินว่ามีความผิดจริงตามที่ถูกกล่าวหา และต้องโทษจำคุก 6 เดือน แต่ให้รอลงอาญาเป็นเวลา 3 ปี
หลายคนวิพากษ์วิจารณ์คำตัดสินดังกล่าวว่า ผู้ต้องหาทั้งสี่ได้รับโทษที่เบาเกินไปสำหรับความผิดที่ได้ก่อ บางคนยังสอดแทรกความเห็นของตนเพิ่มเติมเข้าไปอีกว่า คล้ายๆผู้พิพากษาจะเผื่อใจเอาไว้ครึ่งหนึ่ง...ก็ใครจะรู้ บางทีอันเนลีสอาจจะถูกผีเข้าจริงก็เป็นได้
หญิงชราทางขวามือคือ อันนา มิเชล แม่แท้ๆของอันเนลีส
สิ่งที่เกิดขึ้นกับอันเนลีส มิเชล ส่งผลกระทบในระดับกว้างขวางเกินกว่าผู้ใดจะคาดคิด
แรกสุด มันทำให้บิชอปและนักเทววิทยาหลายคนในเยอรมันรวมกลุ่มกันยื่นคำร้องต่อ วาติกัน ขอให้มีการเปลี่ยนแปลงระเบียบปฏิบัติในพิธีไล่ผีเสียใหม่ ในปี 1984 (บาทหลวงผู้ประกอบพิธีไล่ผีจะทำตามข้อปฏิบัติที่บัญญัติไว้ในคู่มือซึ่ง เรียกกันว่า Rituale Romanum หรือ The Roman Ritual ซึ่งเขียนมาตั้งแต่ปี 1614)
พวกเขาเห็นว่า ข้อที่เป็นปัญหาและสมควรได้รับการแก้ไขก็คือ ข้อที่บอกให้บาทหลวงผู้ประกอบพิธีพูดจากับปีศาจร้ายโดยตรง (ข้อความประมาณว่า “ข้าขอออกคำสั่งให้เจ้า –วิญญาณสกปรก- จงออกไปเสียเดี๋ยวนี้”) เพราะนั่นเท่ากับทำให้ผู้ถูกสิงยิ่งเชื่อถือจริงจังว่า ตนถูกผีเข้าจริงๆ
อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดกลับไม่ได้อย่างที่ขอ
เดือนมกราคม ปี 1999 - 15 ปีหลังจากคำร้องดังกล่าวถูกยื่นออกไป สำนักวาติกันก็ออกบทบัญญัติว่าด้วยการไล่ผีเสียใหม่ (หลังจากที่ก่อนหน้านี้ บทบัญญัติดังกล่าวไม่เคยได้รับการเปลี่ยนแปลงแก้ไขเลยมาเป็นเวลา 300 กว่าปี)
และยังคงเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบพิธีสามารถพูดจาสื่อสารกับวิญญาณร้ายได้โดย ตรง แต่บทเรียนจากอันเนลีส มิเชล ทำให้สำนักวาติกันให้ความระมัดระวังต่อประเด็นคุณสมบัติของผู้ทำพิธีมากขึ้น
โดยระบุไว้ในคู่มือฉบับใหม่นี้ว่า บาทหลวงรูปใดก็ตามที่จะประกอบพิธีไล่ผีได้ นอกจากจะต้องได้รับการฝึกฝนจนชำนาญแล้ว ยังต้องมีความรู้ด้านการแพทย์ในระดับที่เพียงพออีกด้วย
ประการถัดมา มันก่อให้เกิดผลกระทบต่อชาวเมืองคลินเกนแบร์กซึ่งเป็นที่พำนักสุดท้ายของอันเนลีสโดยตรง
กล่าวกันว่า หลายคนเห็นเหตุการณ์ครั้งนั้นเป็นความอัปยศของเมือง ไม่มีใครอยากพูดถึงเรื่องนี้ และเมื่อใดก็ตามที่ชาวเมืองเห็นคนต่างถิ่นเดินทางมาเยี่ยมเยียนเคารพหลุมฝัง ศพของอันเนลีส พวกเขาก็ได้แต่เฝ้ามองด้วยสายตาเป็นปรปักษ์อยู่ลึกล้ำ
ยิ่งเมื่อ 2 ปีก่อนซึ่ง The Exorcism of Emily Rose ที่ใช้เรื่องของอันเนลีสเป็นแรงบันดาลใจ ออกฉาย ก็ยิ่งทำให้ชาวเมืองคลินเกนแบร์กกังวลใจ ไม่มีใครอยากเห็นเรื่องนี้ถูกขุดคุ้ยจนเป็นเป้าสนใจของสาธารณชนอีก
ในภาพที่เห็นคือหลุมศพปัจจุบันของอันเนลีส
ใน เดือนกุมภาพันธ์ 1978 ก่อนการพิจารณาคดีจะเริ่มต้นขึ้น พ่อและแม่ของอันเนลีสขอให้มีการขุดศพลูกสาวตนขึ้นมา ก่อนจะฝังกลับลงไปใหม่ เหตุผลที่ให้กันไว้ก็คือ
ช่วงที่อันเนลีสเสียชีวิตนั้น ทั้งคู่มีเวลาตระเตรียมงานศพไม่มากนัก จึงจำเป็นต้องบรรจุร่างของลูกไว้ในโลงศพราคาถูก แต่ตอนนี้เห็นว่าสมควรแก่เวลาแล้วที่จะหาโลงใหม่ ทำจากไม้โอ๊ค หรูหราสวยงามให้แก่ลูก
อย่างไรก็ตาม มีเรื่องเล่ากันว่า สาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้นายและนางมิเชลตัดสินใจขุดศพลูกสาวขึ้นมา ก็เนื่องจากมีแม่ชีคนหนึ่งมาบอกทั้งคู่ว่า นางเห็นนิมิตว่าศพของอันเนลีสนั้นยังไม่เน่าเปื่อยเสื่อมสลายอย่างที่ควรจะเป็น และนั่นถือเป็นปาฏิหาริย์โดยแท้
อย่างไรก็ตาม ความกังวลของคนที่นั่น ท้ายที่สุดก็ไม่อาจทำให้ความสนใจของผู้คนที่มีต่อเรื่องพิลึกพิลั่นของอันเนลีส เบาบางลงไปได้
ผลจาก The Exorcism of Emily Rose ทำให้มีบทความต่างๆเกี่ยวกับอันเนลีสผุดขึ้นในสื่อต่างๆอย่างเอิกเกริก ภาพถ่ายของหญิงสาว ทั้งในช่วงที่เธอยังสมบูรณ์แข็งแรงดี และช่วงใกล้วาระสุดท้ายของชีวิต สามารถพบหาได้ทางอินเตอร์เนต
สยองสุดก็คือ เว็บไซต์บางแห่งได้นำเทปบันทึกเสียงในระหว่างพิธีไล่ผีของอันเนลีสบางส่วน มาเผยแพร่ให้ได้ยินกันจะๆ ด้วย
ใครสนใจ เชิญฟังเสียงได้ที่เว็บไซต์นี้ www.chasingthefrog.com/reelfaces/emilyrose.php มีอยู่ด้วยกัน
การเคลื่อนย้ายศพของอันเนลีส และที่เชื่อกันว่า เป็นภาพถ่ายวิญญาณ ซึ่งถ่ายได้ในระหว่างพิธี
เป็นเพราะหนัง The Exocism of Emily Rose อีกเช่นกัน ที่ทำให้ เอลิซาเบธ เดย์ นักข่าวประจำหนังสือพิมพ์ เทเลกราฟ ของอังกฤษ เดินทางไปสัมภาษณ์ อันนา มิเชล แม่แท้ๆของอันเนลีส ผู้มีบทบาทสำคัญในเหตุการณ์เมื่อ 30 ปีก่อนนั้น
ปลายปี 2005 วันที่เอลิซาเบธ เดย์ เดินทางไปสัมภาษณ์ อันนาอายุปาเข้าไป 80 กว่า ใช้ชีวิตตามลำพังในบ้านหลังเดิมที่เคยเกิดเรื่องราวฝันร้ายในคราวนั้น โจเซฟผู้เป็นสามีเสียชีวิตไปเมื่อ 6 ปีก่อน ส่วนลูกสาวอีก 3 คนที่ยังมีชีวิตอยู่ ต่างก็แยกย้ายไปคนละทิศละทางกันหมด
อันนารำลึกถึงลูกสาวที่ชื่อคล้ายกันกับเธอให้เอลิซาเบธ เดย์ ฟังว่า “อันเนลีสเป็นอ่อนหวาน จิตใจดี อยู่ในโอวาทเสมอ แต่หลังจากถูกผีสิง เธอก็เปลี่ยนไปเป็นคนละคน มันเป็นเรื่องเกินธรรมชาติ เป็นสิ่งที่เราอธิบายไม่ได้”
อันนารับว่า เธอคิดถึงลูกสาว “ฉันมองเห็นหลุมศพลูกจากหน้าต่างห้องนี่ ฉันแวะไปเยี่ยมลูกอยู่บ่อยๆ เอาดอกไม้ติดมือไปฝากลูกด้วย”
หญิงชราปฏิเสธที่จะข้องเกี่ยวใดๆกับภาพยนตร์ The Exorcism of Emily Rose “ฉันไม่อยากดู ไม่รู้ไม่เห็นอะไรเกี่ยวกับหนังเรื่องนี้ทั้งนั้น”
ตีพิมพ์ครั้งแรก: คอลัมน์ A Room with a View นิตยสาร Starpics ฉบับที่ 705, ปักษ์หลัง มิถุนายน 2007
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น