ผมเป็นคนบ้านหมี่ จ.ลพบุรีครับ ใครมาเรียกว่าเราว่า "ลาวพวน" โกรธกันจริงๆ ด้วย เพราะผู้ใหญ่เล่าสืบกันมาว่า คนลาวก็เรียกพวกเราว่า "ไทยพวน" ทั้งๆ ที่คนพวนอยู่กันมาก่อนหน้านั้นหลายชั่วอายุคนแล้ว
คำว่า "ลาว" นี่เพิ่งจะมารู้จักกันเมื่อจักรวรรดินิยมฝรั่งเศสมายึดครอง มาแบ่งเขตแดนในภายหลังแท้ๆ
แล้วคำว่า "พวน" มาจากไหนล่ะ?
เดิมทีพวกเรามีบ้านเมืองเป็นหลักแหล่งอยู่ที่เมืองพวนโน่นแน่ะ เดี๋ยวนี้อยู่ในเขตเชียงขวาง ประเทศลาว อยู่ทางทิศตะวันออกของเมืองหลวงพระบาง อยู่ใต้เขตหัวพัน (ซำเหนือ) และอยู่ติดกับแขวงเวียงจันทน์ไปทางเหนือ ส่วนด้านทิศตะวันออกอยู่ติดชายแดนเวียดนาม
การโยกย้ายถิ่นฐานของมนุษย์น่ะถือว่าเป็นเรื่องธรรมดาเต็มที ไม่ว่าในอดีตหรือปัจจุบัน!
ชาวพวนอพยพมาอยู่ที่บ้านหมี่ตั้งแต่สมัยปลายกรุงศรีอยุธยานะครับ มีหลักฐานการตั้งถิ่นฐานจากการก่อตั้งวัดหินปักใหญ่ ในปี 2306 โดยชาวพวกเป็นผู้สร้าง ส่วนวัดวังใต้นั้นชาวไทยเวียงที่อพยพตามหลังมา สร้างไว้ในปี 2307
ที่กลายเป็นชุมชนใหญ่ก็เมื่อคราวปราบกบฏเจ้าอนุวงศ์เมืองเวียงจันทน์ ในสมัยรัชกาลที่ 3 เพราะเข้ามาอยู่ในดินแดนนี้มากมายขึ้นผิดตา ปกติน่ะชาวพวนอพยพเข้ามาเป็นกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยมาแต่ไหนแต่ไรแล้วครับ
ละแวกย่านบ้านผมนี่มีแยะเชียว ทั้งบ้านหมี่, ทับคล้อ, ทุ่งโพธิ์, วังหลุม...
ใครว่าจังหวัดไหนมีชื่อมากมาย อำเภอผมก็ไม่น้อยหน้าหรอก ตอนแรกๆ เรียกว่าอำเภอสนามแจง ต่อมาเปลี่ยนเป็นอำเภอห้วยแก้ว ล่าสุดคือชื่ออำเภอบ้านหมี่เมื่อปี 2482 จนถึงทุกวันนี้
เคยได้ยินว่าภาคอีสานและภาคใต้เขามีประเพณีทำบุญทุกเดือน ภาคกลางหรืออำเภอบ้านหมี่ก็ไม่น้อยหน้าใครนะครับ
เดือนอ้ายบุญข้าวจี่, เดือนยี่บุญข้าวหลาม, เดือนสามกำฟ้า, เดือนห้าบุญสงกรานต์, เดือนหกบุญกลางบ้าน, เดือนแปดบุญเข้าพรรษา, เดือนเก้าบุญห่อข้าวสารทพวน, เดือนสิบเอ็ดตักบาตรเทโว, เดือนสิบสองใส่กระจาดเทศน์มหาชาติ
ทั้งได้บุญ ทั้งได้สนุกสนานกันเต็มอิ่มเลยเชียว
ชาวพวนนับถือศาสนาพุทธ และนับถือผีปู่ตากับผีบรรพบุรุษ โดยจะแยกหิ้งพระไว้คนละส่วน ในหมู่บ้านก็มีศาลผีปู่ตาทุกแห่ง โดยมากมักจะสร้างไว้ตามเนินสูง เช่น ตามโคกหรือจอมปลวกใหญ่ๆ สะดุดตา บางแห่งเรียกว่า "หอบ้าน" ก็มี!
ที่บ้านหินปักใกล้ๆ โพนทองบ้านผม เขาจะมีพิธีกรรมเลี้ยงผีกันทุกปี ผมเคยตามพ่อไปเยี่ยมญาติเคยเห็นหมอผีวัยชรา หรือผู้ทำพิธี เรียกว่า "เจ้าจ้ำ" มาเป็นเจ้าพิธี นำชาวบ้านทำพิธีกรรมต่างๆ
เชื่อกันว่า "ถ้าเซ่นไหว้ดี-ทำพลีถูกต้อง" ผีปู่ตาจะคุ้มครองให้อยู่เย็นเป็นสุข...การจุดธูปเทียนและเซ่นไหว้ทำให้เด็กๆ อย่างผมขนลุกก็แล้วกันครับ
ไหนจะมีพิธีกรรม "เลี้ยงผี" อีกล่ะ!
นั่นคือการทำบุญสารท หรือเทศกาลทำบุญสิ้นเดือนสิบ เป็นประเพณีกลางปี...วันดีคืนดีก็เกิดเรื่องขนหัวลุกขึ้นจนได้
เทศกาลของชาวพวกจะตรงกับวันแรม 14 ค่ำเดือน 9 ส่วนสารทลาวถือเอาวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 10 แต่สารทไทยช้ากว่าเพื่อน คือวันแรม 15 ค่ำเดือน 10
พวกเราจะไปทำบุญที่วัดใกล้บ้าน โดยมีการทำ "ข้าสารท" หรือ ข้าวพญาสารท" ที่คนไทยเรียก "ข้าวกระยาสารท" นั่นแหละครับ (กินกับกล้วยไข่ถูกกันที่สุด)
หลังจากถวายภัตตาหารพระสงฆ์ ฟังเทศแล้ว พวกเราชาวบ้านไม่ว่าหนุ่มสาวเฒ่าแก่ก็ล้อมวงกินอาหารกันเอร็ดอร่อย
มาเกิดเรื่องขนหัวลุกก็เมื่อถึงทำพิธีเลี้ยงผีนี่เอง!
นั่นคือ เมื่อคนกินอิ่มแล้วก็ต้องเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ไปถึงภูตผีปีศาจ รวมทั้งสัมภเวสี ผีเร่ร่อนให้ได้รับส่วนบุญด้วย
พวกเรานิยมทำเป็นประเพณีห่อข้าว อาหารคาวหวาน อีกทั้งหมากพลูบุหรี่ จะขาดก็แต่สุราเท่านั้นแหละ ห่อด้วยใบตองเป็นรูปสี่เหลี่ยม แล้วนำไปวางตรงทางสามแพร่ง เพราะเชื่อกันว่าเป็นผีผ่าน...ไม่ว่าจะรู้ทีรอท่าหรือผ่านมาก็จะได้อิ่มท้องเสียที
อ้อ! บางคนก็เชื่อว่าผีจะมาด้อมๆ มองๆ อยู่ข้างโบสถ์ เลยเอาห่ออาหารไปวางไว้ที่นั่น
คิดๆ แล้วไม่ว่าไทยหรือพวนก็เชื่อเรื่องทางสามแพร่งเหมือนๆ กันนะครับ คือเชื่อว่าเป็นทำเลอัปมงคล สิ่งชั่วร้ายหรือภูตผีจะมาสิงสู่อยู่กันที่นั่นแหละ ถึงได้หลีกเลี่ยงการปลูกบ้านในทำเลเช่นนั้น ยกเว้นแต่จนปัญญาจริงๆ เพราะหาที่ทางไม่ได้แล้ว เช่น ในกรุงเทพฯ ปัจจุบันนี้เป็นต้น
ที่เชื่อตรงกันอีกอย่างก็คือ ภูตผีย่อมมีความหิวโหยเหมือนผู้ทั่วๆ ไป จึงมีการเอาอาหารเซ่นผีตั้งแต่ยังไม่ได้เผา หลังจากนั้นก็ยังทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้ผี...แม้แต่การแจกข้าวให้กับผี, เปรต รวมทั้งผีไม่มีญาติด้วย
วันนั้น พวกผู้ใหญ่เขาจัดการแจกข้าวให้ผีแล้วก็พากันกลับ น้องชายอายุราว 7-8 ขวบของผมเดิมไปหันไปมองบ่อยๆ จนแม่ถามว่ามองอะไร คำตอบเล่นเอาเราหยุดกึกไปตามๆ กัน
"ใครก็ไม่รู้ มาแย่งกันกินข้าวห่อกันใหญ่เลย..."
น้องชายผมไม่ได้พูดเฉยๆ แต่ชี้มือให้ดูอีกต่างหาก ทุกคนหันขวับไปมองนอกจากเสียงลมพัดคร่ำครวญ เมฆหนาบดบังแสงอาทิตย์จนร่มครึ้มแล้ว เราก็ไม่เห็นอะไรเลย...แต่ทำไมขนหัวลุกก็ไม่รู้สิครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น