ป้ายกำกับ

ตะเคียนที่ยะหริ่ง


บุหรง ตันหยงดาลอ เล่าเรื่องน่าขนหัวลุกจากตะเคียน "โต๊ะปียา"

ดิฉันเป็นคน อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี หนึ่งในสี่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากผู้ก่อการร้าย หรือจะเรียกว่าผู้สร้างสถานการณ์ก็ได้ค่ะ ทำให้คนบริสุทธิ์ต้องบาดเจ็บล้มตายกันนับไม่ถ้วน

ตั้งแต่ต้นปี 2547 มาถึงปัจจุบัน ก็ยังมีการ "ฆ่ารายวัน" จนแทบจะไม่เป็นอันทำมาหากินกันแล้วค่ะ

ท่านผู้มีหน้าที่รับผิดชอบโปรดค้นหาสาเหตุให้พบ เมื่อรู้แน่ว่าเกิดจากอะไรแล้วจะได้แก้ปัญหาให้ตรงจุด ไม่ใช่แก้ที่ปลายเหตุ มีหวังต้องฆ่าแกงทุกวัน น่าอเนจอนาถไม่จบสิ้น

วันนี้มีเรื่องขนหัวลุกเล่าให้ฟังค่ะ

เมื่อเอ่ยถึงต้นตะเคียน เป็นอันรู้จักกันดีทุกภาค หรือทุกจังหวัดของประเทศไทยนะคะ ว่ามีนางตะเคียนสิงสู่ เรียกว่า "ผีตะเคียน" เชื่อกันว่าเกิดขึ้นเอง ไม่มีใครอุตริไปปลูกหรอกค่ะ บางแห่งก็เชื่อว่าต้นตะเคียนในป่าช้าจะเฮี้ยนที่สุด มีหน้าที่คอยกำราบผีต่างๆ ไม่ให้ออกอาละวาด ทำให้คนเดือดร้อน



บางแห่งเชื่อว่าตะเคียนคู่จะมีฤทธิ์มากขึ้นไปอีก ถ้าฝังศพผีตายทั้งกลมต้องฝังไว้ระหว่างตะเคียนคู่นะคะ ไม่งั้นมีหวังป่าช้าแตกแน่ๆ

เป็นที่รู้กันว่าไม้ตะเคียนเนื้อแข็ง เหมาะเอามาปลูกบ้าน บางแห่งก็เอามาทำเรือ เรียกว่าเรือขุดไม้ตะเคียน แต่สมัยก่อนคนยังกลัวผีกันมากค่ะ เพราะมีการตัดไม้ต่างๆ เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ เพื่อตัดถนนหรือสร้างอาคาร คนตัดไม้ต้องให้หมอไสยศาสตร์มาทำพิธีเสียก่อน ไม่งั้นไม่ยอมตัดเด็ดขาด

สาเหตุเพราะมีคนตกต้นตะเคียนตายบ้าง ชักดิ้นชักงอก่อนจะขึ้นก็มี ส่วนมากจะมีอันเป็นไปต่างๆ นานา เชื่อว่าเป็นฤทธิ์เดชของนางตะเคียน

แต่ต้นตะเคียนที่ยะหริ่งกลับเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านต้องเคารพบูชา จัดพิธีกันเป็นประจำทุกปีค่ะ

ก่อนจะเล่าเรื่อง "ตะเคียนโต๊ะปียา" ขอเล่าเรื่องพิธีฉลองชายหาดก่อนนะคะ

ทุกๆ สามปี ชาวบ้านอำเภอยะหริ่งจะได้สนุกสนานครึกครื้นกันอย่างเต็มที่ เพราะมีพิธีฉลองชายหาด ที่คิดว่ามีอยู่แห่งเดียวเท่านั้นเอง

"ปูยอปาตา" คือชื่อพิธีดังกล่าว

"ปูยอ" ในภาษามลายู หรือภาษายาวีแปลว่า "บูชา"

"ปาตา" แปลว่า "ชายหาด"

ปูยอปาตา คือการประกอบพิธีเพื่อบูชาภูตผีปีศาจ หรือเทพเจ้าแห่งท้องทะเล ให้ช่วยดลบันดาลให้ปูปลาทั้งหลายมาติดเบ็ดติดอวนมากๆ จะได้เลี้ยงดูครอบครัวให้มีความสุขตามอัตภาพตลอดไป

พิธีนี้มีกำหนดว่าต้องทำในวันข้างขึ้นเดือนเก้า ในราวขึ้น 7-8 ค่ำจนถึง 15 ค่ำ มีงาน 3 วัน 3 คืนเป็นอย่างน้อย หรืออย่างมากก็ไม่เกิน 7 วัน 7 คืน

ตอนเช้าของวันเปิดงานจะต้องทำพิธีบวงสรวงเจ้าทะเล โดยปลูกศาลเพียงตาขึ้นใกล้ๆ ชายหาด บนศาลจะมีทั้งข้าวตอกดอกไม้ ขนมนมเนยต่างๆ และธูปเทียนบูชา ส่วนรอบๆ ศาลใช้สายสิญจน์กั้นเป็นเขตสำคัญ ป้องกันคนภายนอกรุกล้ำเข้ามา

หัวหน้า หรือ "หมอ" จะประกอบจุดธูปเทียนบูชา พนมมือท่องคาถาอัญเชิญเทวดาและเจ้าทะเลมารับเครื่องสังเวย เมื่อเสร็จพิธีแล้วก็จะมีการประโคมมหรสพ...เสียงฆ้องกลองดังกระหึ่มทั้งกลางวันกลางคืนไปตลอดงาน ชาวบ้านทั้งหนุ่มและสาว กับพวกเด็กจะสนุกสนานกันเต็มที่

เมื่อถึงวันสุดท้าย ผู้คนต่างก็นำเรือของตนมาจอดเกยชายหาดในบริเวณงานพิธี ล้วนประดับประดาเรือของตนด้วยธงทิวหลากสีสัน ผูกขึ้นยอดเสาที่ปักไว้หน้าเรือ ทั้งเรือกอและ เรือมาด ฯลฯ

เจ้าของเรือจะเตรียมหม้อไหไปวางไว้ในเขตบริเวณศาลพิธี เพื่อรับน้ำมนต์มาเป็นสิริมงคลต่อไป

คราวนี้ก็ถึงตะเคียน "โต๊ะปียา" ละค่ะ!

พิธีนี้เป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่า พี่น้องทั้งชาวไทยมุสลิมและชาวไทยพุทธมีความรักใคร่สมานฉันท์กันเหมือนญาติสนิทมานานแล้ว ไม่มีการถือเขาถือเรา ต่างคิดว่าเป็น "คนไทย" เหมือนกัน จึงอยู่ร่วมกันอย่างสงบสันติและผาสุกมานับร้อยปีแล้ว เพิ่งจะเกิดเรื่องเคืองเข็ญขนาดหนักก็คราวนี้เอง

ชาวบ้านถือว่า "โต๊ะปียา" มีความศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่เคารพนับถือสืบเนื่องกันมาหลายชั่วคน จึงมีการสร้างที่บูชาและมีพิธีฉลองทุกปี

มีตำนานเล่าสืบต่อกันมาว่า โต๊ะปียาเป็นหญิงสาวผู้หนึ่ง มีความงดงามเป็นที่เลื่องลือไปไกล แต่วันหนึ่ง จะเกิดสาเหตุใดไม่มีใครทราบแน่ชัด โต๊ะปียาได้เดินเข้าไปในต้นตะเคียน ท่ามกลางความตกตะลึงของผู้ที่ได้พบเห็น

นอกจากความน่าอัศจรรย์ที่เดินเข้าไปในต้นไม้อาถรรพณ์ ชาวบ้านก็เฝ้ารอดูว่าเมื่อไรเธอจะกลับออกมา แต่โต๊ะปียาก็สาบสูญเข้าไปโดยไม่ยอมกลับออกมาจากต้นตะเคียนนั้นอีกเลย

ชาวบ้านเชื่อว่าโต๊ะปียาเป็นผู้มีบุญ ไม่ว่าใครๆ ก็ต้องมาเคารพเธอทั้งนั้น

สาเหตุสำคัญอีกประการหนึ่ง ที่ทำให้ผู้คนเลื่อมใสกันมากก็คือ ไม่ว่าใครเดือดเนื้อร้อนใจเรื่องอะไรก็ตาม เมื่อไปบนบานศาลกล่าว หรือขอพรจากโต๊ะปียาแล้ว ส่วนมากมักจะได้ผลตามที่ประสงค์ทุกคนไป

ทุกวันนี้ชาวใต้อย่างพวกเรา ปัตตานี, ยะลา, นราธิวาส และสตูล เดือดเนื้อร้อนใจกันมากๆ นึกถึงท่านผู้มีหน้าที่รับผิดชอบทั้งหลายแล้วบอกตรงๆ ว่า...ขนหัวลุกค่ะ!

คอลัมน์ ขุนหัวลุก

1 ความคิดเห็น:

เรื่องผี ที่ได้รับความนิยม