วันชิงเปรต
Labels:
เรื่องผี
"หนูใหญ่" เล่าประสบการณ์ขนหัวลุกในวันชิงเปรตที่ระโนด
เชื่อว่าท่านผู้อ่านคงจะเคยได้ยินคำว่า "ประเพณีชิงเปรต" ของคนภาคใต้มาบ้างแล้ว แต่หลายๆ คนก็ไม่เข้าใจว่าเหตุใดจึงมีชื่อค่อนข้างแปลก โดยเฉพาะ "เปรต" เป็นอสุรกายชนิดหนึ่งที่รู้จักกันดีว่าน่าหวาดกลัวนัก แล้วจะมาแก่งแย่งขนาด "ชิงเปรต" กันไปด้วยเหตุไร?
ขออธิบายง่ายๆ ดังนี้ค่ะ
"ชิงเปรต" เป็นประเพณีในวันสารทเดือนสิบของพวกเราชาวใต้ โดยช่วยกันทำร้านสำหรับจัดสำรับอาหารคาวหวานไปวาง เพื่ออุทิศให้ผีสางหรือ "เปรตชน" ซึ่งหมายถึงปู่ ย่า ตา ยาย ที่ล่วงลับไปแล้ว
เมื่อนำสำรับอาหารลงมาแล้ว พวกลูกหลานของผู้ตายก็เข้าแย่งอาหารนั้น เรียกว่า "ชิงเปรต" หรือจะพูดให้ชัดๆ คือแย่งชิงอาหารต่อจากเปรตก็คงไม่ผิดหรอกนะคะ
บางท่านตั้งข้อสังเกตว่า มีลักษณะคล้ายคลึงกับประเพณี "ทิ้งกระจาด" ของคนจีน แต่ถ้าพิจารณาให้ดีจะเห็นว่าแตกต่างกันพอสมควร
การทิ้งกระจาดของจีนเป็นการทิ้งทานให้แก่พวกผีไม่มีญาติ ส่วนการตั้งเปรต-ชิงเปรตของไทย เป็นการอุทิศส่วนกุศลให้ทั้งเปรตและผี ทั้งที่เป็นญาติพี่น้องของพวกเรา รวมทั้งอุทิศให้ผีไม่มีญาติด้วย
พวกเราเชื่อถือสืบต่อกันมาตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษแล้ว ว่าการชิงเปรตไม่ก่อให้เกิดอัปมงคลแก่ผู้ชิง ตรงกันข้าม กลับถือว่าได้บุญเสียด้วยซ้ำไป!
มีเหตุผลและความเชื่อกันว่า บุตรหลานของเปรตตนใดชิงอาหารได้ เปรตตนนั้นย่อมจะพลอยได้รับอาหารส่วนนั้นไปด้วย ข้อสำคัญคือระวังอย่าให้อาหารตกหล่นลงพื้น เกิดความสกปรกจนเป็นอันตรายต่อสุขภาพเท่านั้นเอง
การตั้งเปรตและชิงเปรตจะกระทำกันในวันที่ยกสำรับไปวัด ไม่ว่าจะเป็นวันแรม 14 ค่ำหรือ 15 ค่ำก็ตาม ผู้ตั้งเปรตจะนำอาหารอีกส่วนหนึ่งไปเพื่อการตั้งเปรตด้วย
อาหารส่วนมากจะเป็นอาหารที่บรรพบุรุษที่เป็นเปรตชอบอย่างละนิดละหน่อย ขนมที่นิยมคือขนมลา ขนมพอง ขนมบ้า ขนมเจาะหู ขนมไข่ปลา เป็นต้น
นอกจากขนมที่ว่าแล้วยังมีของแห้งต่างๆ เป็นเสบียงกรังจัดฝากไปด้วย เช่น ข้าวสาร หอม กระเทียม พริก เกลือ กะปิ น้ำตาล รวมทั้งกล้วย อ้อย มะพร้าว ธูปเทียน จัดลงในหมับ โดยเอาของแห้งอยู่ข้างใน ส่วนขนมอยู่ข้างนอก แต่เดิมนิยมใช้กระเชอหรือถาด นำสำรับที่จัดแล้วไปวัดรวมกันตั้งไว้บน "ร้านเปรต"
สมัยก่อนสร้างไว้กลางวัดยกเสาสูง ต่อมาร้านเปรตทำเป็นศาลาถาวร บางแห่งจึงเรียก "หลาเปรต"
บนร้านเปรตนั้นจะมีสายสิญจน์วงล้อมไว้รอบ และต่อยาวไปถึงพระภิกษุซึ่งนั่งอยู่ในวิหารอันเป็นที่ทำพิธีกรรม สวดบังสุกุลอัฐิหรือกระดาษเขียนชื่อผู้ตาย ซึ่งบุตรหลานนำมารวมกันในพิธี แล้วกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลไปยังเปรตชนผู้เป็นบรรพบุรุษ
เมื่อเสร็จพิธีแล้วจึงเก็บสายสิญจน์ ส่วนขนมกับของแห้งต่างๆ จะแบ่งส่วนหนึ่งถวายพระ อีกส่วนหนึ่งให้เปรตชนเข้ามาเสพได้
ในเวลาเดียวกันนั้น ผู้มาร่วมทำบุญทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะเด็กๆ จะเข้าไปกลุ้มรุมกันแย่งขนมที่ตั้งเปรตอย่างสนุกสนาน...เชื่อกันว่าการแย่งขนมเปรตที่ผ่านการทำพิธีแล้วนี้จะได้กุศลแรงนัก อีกทั้งเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัวอีกด้วย
สมัยเด็กๆ ดิฉันเคยเห็นผู้ใหญ่นำขนมพวกนี้ไปหว่านในสวนในนา เชื่อว่าจะทำให้พืชผลอุดมสมบูรณ์ บางคนก็นำไปติดไว้ตามต้นไม้เพื่อจะให้มีผลดก ส่วนมากก็ได้ผลจริงๆ ด้วยค่ะ
ศรัทธาแรงกล้าอาจจะเกิดพลังได้จริงๆ ไม่ควรลบหลู่นะคะ มิฉะนั้นคงจะไม่ยึดถือเป็นประเพณีมาหลายร้อยปีเป็นแน่
เมื่อเล่าถึงเปรตชน ก็อยากจะเล่าอย่างตรงไปตรงมาว่า ในบรรดาผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ยังเป็นเปรตเป็นผีอยู่นั้น ย่อมจะเคยกระทำบาปกรรมต่างๆ ที่ในที่ลับและที่แจ้งเอาไว้ทั้งนั้น ไม่มากก็น้อย...ถ้าเรามีใจเป็นธรรมก็ไม่ต้องดูอื่นดูไกลหรอกค่ะ ดูที่ตัวเราเองนี่แหละ จะเห็นได้ชัดเจนที่สุด
ผู้ใดทำบาปเวรไว้เมื่อยังมีชีวิต ครั้นสิ้นลมหายใจไปแล้วก็ต้องไปอยู่ในยมโลก อย่างที่ทราบกันอยู่แล้ว
"เปรตชน" ที่ใจบาปหยาบหนา เคยกระทำกรรมชั่วเอาไว้มากนัก เมื่อถึงวันชิงเปรต-หรือวันที่ลูกหลานนำอาหารไปวางไว้ในเขตวัด จะเกิดความหวาดกลัว หวั่นสยองจนไม่กล้าย่างกรายเข้าไปรับอาหารกับเขาได้ แม้ว่าจะอดอยากปากแห้ง หิวโหยสักปานใดก็ตาม
อย่างมากก็ได้แต่เลียบๆ เคียงๆ หรือด้อมๆ มองๆ น้ำลายสออยู่นอกเขตวัดเท่านั้นเอง!
บรรดาลูกๆ หลานๆ ส่วนมากก็จะล่วงรู้ประวัติของบรรพชนทั้งนั้นแหละค่ะ ว่าเมื่อยังมีชีวิตอยู่ได้กระทำกรรมอะไรไว้ มากน้อยแค่ไหน? ย่อมจะหาหนทางที่จะช่วยให้พ่อ แม่ หรือ ปู่ ย่า ตา ยาย ของตนได้รับส่วนกุศลเหมือนกับวิญญาณดวงอื่นๆ บ้าง
หาทางออกด้วยการนำอาหารและขนมไปตั้งร้านเปรตกันนอกวัด แต่เป็นร้านเปรตแบบวางบนพื้นดินพื้นหญ้า หรือไม่ก็ตามค่าคบไม้เตี้ยๆ เมื่อตั้งเปรตแล้วลูกหลานอาจแย่งชิงกันตามธรรมเนียมเหมือนตั้งร้านเปรตในวัด
เชื่อว่าเปรตชนบาปหนาก็จะได้กินอาหารหวานคาว เช่นเดียวกับเปรตชนอื่นๆ ที่ลูกหลานอุทิศให้และชิงให้!
เมื่อเสร็จสิ้นการชิงเปรตแล้ว บรรดาเปรตชนทั้งหลายก็ได้รับส่วนบุญจนอิ่มหนำสำราญ แล้วพากันกลับยมโลก รอโอกาสที่จะได้กลับมารับส่วนกุศลอีกครั้งในปีต่อไป...ใครที่คิดจะกินให้อิ่มในชาตินี้ชาติเดียว โปรดอย่าลืมชาติหน้าด้วยนะคะ
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
เรื่องผี ที่ได้รับความนิยม
-
เมื่อปี พ.ศ.2549 ช่วงเดือนสิงหาคม ผมได้ไปเที่ยวจังหวัดประจวบฯ ที่อ่าวมะนาว โดยไปกับเพื่อนๆ รวมผมด้วยเป็น 4 คน เป็นผู้ชาย 2 คน ผู้หญิง 2 คน...
-
"ศิษย์อาจารย์ใหญ่" เล่าประสบการณ์ขนหัวลุกจากวิญญาณผู้ห่วงใย ดิฉันมีอาชีพรับราชการ เป็นอาจารย์อยู่ที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งทางภาคตะ...
-
"หมวยเล็ก" เล่าประสบการณ์ขนหัวลุกมีคนไปเผาต้นโพธิ์ในซอย เมื่อปีกลายนี้ครอบครัวหนูย้ายจากเจริญพาสน์ไปอยู่บางยี่เรือ เพราะใกล้ที่ท...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น